
วันที่ 22 มกราคม 2568 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate, HTAPC) ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรม NRCT Talk หัวข้อ “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีคำตอบ” ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผู้เข้าร่วมการเสวนาทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดทาง Facebook Live
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเปิดการเสวนา
ในครั้งนี้ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมชี้ว่า
วช. ได้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้น ดร.สุพัฒน์ หวังวงษ์วัฒนา
ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวถึง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ได้แก่ ปริมาณการปล่อยมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ กับปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีความสัมพันธ์กันและต้องพิจารณาควบคู่กัน อีกทั้งยังอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และภูมิศาสตร์อากาศ (Air shade) เช่น แนวสันเขาและลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง ซึ่งมีผลต่อการสะสมฝุ่น พร้อมทั้งกล่าวถึงการใช้ HYSPIT Model เพื่อติดตามทิศทางมวลอากาศย้อนหลัง และวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจุดความร้อนทั้งในประเทศและนอกประเทศ นอกจากนี้ คุณจรูญ เลาหเลิศชัย นักวิจัยและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา
ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปัจจัยสำคัญด้านอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ลักษณะความเร็วและทิศทางลม เสถียรภาพของอากาศ ชั้นการระบายอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งไม่อาจควบคุมได้
กิจกรรมในครั้งนี้ ยังได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศที่ควรพิจารณาแหล่งกำเนิดเป็นหลัก เนื่องจากปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยาไม่สามารถควบคุมได้ ตัวอย่างมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปรับค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำมัน การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด การกำหนดพื้นที่ควบคุมการปล่อยมลพิษ (Low Emission Zone) การส่งเสริมขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร กิจกรรมครั้งนี้ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้แก่ประชาชน และเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างยั่งยืน