No Image Available

ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีระบบการปลูกพืชหลังนา ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่

- Research testing and developing technology on cropping systems after rice planting in Chiangmai province
 ผู้แต่ง:: ผศ. ดร.วีณา นิลวงศ์  หน่วยงาน:: มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ปีเผยแพร่:: 2021  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

การเผาตอซังฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อทำการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการฟางข้าว/ตอซังที่มีประสิทธิภาพเพื่อการปลูกพืชหลังนา โดยดำเนินการทดลองในพื้นที่ปลูกข้าว 5 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอแม่อาย วางแผนการทดลองแบบ 2×3 Factorial in RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 วิธีการจัดการตอซัง/ฟางข้าว (S) ประกอบด้วย 3 กรรมวิธี ( S1; การไถพรวนคลุกดินกับฟางข้าว (Control), S2; การไถพรวนดินคลุกดินร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 และ S3; การไถพรวนดินคลุกดินร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง) ปัจจัยที่ 2 การไถพรวนคลุกดินหลังการหมัก 7 วัน (T) ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี (T1; ไม่ไถพรวนดิน และ T2; ไถพรวนคลุกดินอีกครั้งก่อนปลูก) ผลการศึกษาพบว่าการจัดการฟางข้าวด้วยกรรมวิธีต่างๆ ร่วมกับการไถพรวนมีผลต่อองค์ประกอบและปริมาณผลผลิตของพืชหลังนาที่ปลูกแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติดินทางเคมี กายภาพ และความอุดมสมบูรณ์ กับการตอบสนองขององค์ประกอบและปริมาณผลผลิตต่อกรรมวิธีการจัดการฟางข้าวพบว่า มีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเนื้อดินและความอุดมสมบูรณ์ โดยขึ้นอยู่กับสมบัติทางด้านเคมี กายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ 5 อำเภอ ซึ่งสามารถแบ่งดินออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะเนื้อดิน ได้แก่ ดินเนื้อปานกลาง-หยาบ (Sandy loam; ดินร่วนปนทราย, Loam; ดินร่วน) และดินเนื้อละเอียด (Silty clay; ดินเหนียวปนทรายแป้ง, Silty loam; ดินร่วนปนทรายแป้ง) และแบ่งระดับความอุดมสมบูรณ์เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ปานกลาง และระดับความอุดมสมบูรณ์สูง โดยกลุ่มดินเนื้อปานกลาง-หยาบ ระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ปานกลาง ได้แก่พื้นที่ อ. พร้าว ที่พบว่ากรรมวิธีการไถพรวนดินด้วยโรตารี่ร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง และการไถพรวนด้วยโรตารี่ซ้ำอีกครั้งหลังการหมักดิน 7 วัน ก่อนทำการปลูก (S3T2) ทำให้ผลผลิตข้าวโพดหวานและผลตอบแทนสูงที่สุด คือ 8.98 ตัน/ไร่ และ 38,580 บาท/ไร่ ในขณะที่กลุ่มดินเนื้อปานกลาง-หยาบ ความอุดมสมบูรณ์สูง ได้แก่ พื้นที่ อ.แม่ริม และอ.แม่แจ่ม ที่พบว่ากรรมวิธีการไถพรวนดินด้วยโรตารี่ร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง (S3T1) ทำให้ผลผลิตข้าวโพดข้าวเหนียว และผลตอบแทน สูงที่สุด ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม คือ 8.99 ตัน/ไร่ และ 48,430 บาท/ไร่ และผลผลิตข้าวโพดหวานสูงที่สุดในอำเภอแม่ริม คือ 5.41 ตัน/ไร่และผลตอบแทน 19,040 บาท/ไร่ ในส่วนของกลุ่มดินเนื้อละเอียด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ปานกลาง กรรมวิธีการไถพรวนร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง หมักดินทิ้งไว้ 7 วันแล้วไถพรวนอีกครั้งก่อนปลูก (S3T2) ได้แก่ พื้นที่ อ.แม่อาย ซึ่งมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงที่สุด 1.50 ตัน/ไร่ และผลตอบแทน 5,200 บาท/ไร่ และกลุ่มดินเนื้อละเอียดความอุดมสมบูรณ์สูง ในพื้นที่ อ. ดอยสะเก็ด ที่พบว่ากรรมวิธีการไถพรวนดินด้วยโรตารี่ร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ (S2T1) ทำให้ผลผลิตถั่วลิสง และผลตอบแทนสูง สูงที่สุด คือ 1.53 ตัน/ไร่ และ 25,660 บาท/ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่ากรรมวิธีที่มีการใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 และทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง ช่วยปรับปรุงสมบัติดินในด้านต่างๆ ได้แก่ ปริมาณอินทรียวัตถุ ความเป็นกรดด่าง ธาตุอาหารพืช (N, P, K, Ca, Mg และ S) ปริมาณคาร์บอนรวมทั้งหมดในดิน (Total C) และความหลากหลายของจุลินทรีย์ดิน อีกด้วย การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการจัดการตอซังฟางข้าวร่วมกับการไถพรวนโรตารี่รูปแบบต่างๆ มีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ และเป็นการปรับปรุงสมบัติดินในพื้นที่ของเกษตรกรทั้ง 5 แปลง ซึ่งสามารถเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่ทั้ง 5 อำเภอ ที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานหรือมีแหล่งน้ำเพียงพอในฤดูแล้ง เช่น บ่อน้ำบาดาล สระน้ำในไร่นา ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การทำนาปีจำนวน 189,510 ไร่ (37% ของพื้นที่นาปีทั้งหมด) ใน จ. เชียงใหม่

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - โครงการเดี่ยว

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM