
วิกฤตปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนวัยประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ แม้หลายภาคส่วนจะพยายามกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศแต่ยังคงพบว่าจำนวนคนป่วยจากฝุ่น PM2.5 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น การศึกษานี้จึงต้องการหาแนวทางการป้องกันกลุ่มเสี่ยงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยภายใต้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้โรงเรียนที่มีการสอนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในอำเภอเมืองเชียงใหม่จำนวน 31 แห่งเป็นกลุ่มประชากรในการศึกษาครั้งนี้ การศึกษานี้เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความเปราะบางของโรงเรียนต่อความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ด้วยดัชนีชี้วัดด้านการเปิดรับฝุ่น PM2.5 และความสามารถในการรับมือของโรงเรียน ผลการวิจัยทำให้ทราบว่าโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีความเปราะบางต่อฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับปานกลางถึงสูงมาก สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของโรงเรียนและทิศอาคารเรียนเป็นปัจจัยสำคัญด้านกายภาพของโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 จำกัด ข้อมูลส่วนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อการออกแบบภูมิทัศน์และองค์ประกอบอาคารด้วยการนำทฤษฎีการออกแบบแบบพึ่งพาธรรมชาติมาบูรณาการร่วมกับทฤษฎีการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติและพลศาสตร์ของไหล (CFD) ทำให้ได้รูปแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์และองค์ประกอบอาคารเรียนตามทิศทางอาคารเรียนและการจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนที่ประกอบด้วย การจัดวางตำแหน่งต้นไม้ที่เหมาะสม การวางแนวรั้วไม้พุ่มและการสร้างส่วนยื่นแนวตั้งและส่วนยื่นแนวนอนให้กับอาคารที่มีแตกต่างกันตามทิศทางการหันหน้าอาคารเรียน 8 ทิศทางพร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการตัดสินใจเพื่อดำเนินการปรับปรุงโรงเรียนภายใต้บริบทและข้อจำกัดของโรงเรียนด้วย

การเผาตอซังฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อทำการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการฟางข้าว/ตอซังที่มีประสิทธิภาพเพื่อการปลูกพืชหลังนา โดยดำเนินการทดลองในพื้นที่ปลูกข้าว 5 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอแม่อาย วางแผนการทดลองแบบ 2x3 Factorial in RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 วิธีการจัดการตอซัง/ฟางข้าว (S) ประกอบด้วย 3 กรรมวิธี ( S1; การไถพรวนคลุกดินกับฟางข้าว (Control), S2; การไถพรวนดินคลุกดินร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 และ S3; การไถพรวนดินคลุกดินร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง) ปัจจัยที่ 2 การไถพรวนคลุกดินหลังการหมัก 7 วัน (T) ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี (T1; ไม่ไถพรวนดิน และ T2; ไถพรวนคลุกดินอีกครั้งก่อนปลูก) ผลการศึกษาพบว่าการจัดการฟางข้าวด้วยกรรมวิธีต่างๆ ร่วมกับการไถพรวนมีผลต่อองค์ประกอบและปริมาณผลผลิตของพืชหลังนาที่ปลูกแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติดินทางเคมี กายภาพ และความอุดมสมบูรณ์ กับการตอบสนองขององค์ประกอบและปริมาณผลผลิตต่อกรรมวิธีการจัดการฟางข้าวพบว่า มีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเนื้อดินและความอุดมสมบูรณ์ โดยขึ้นอยู่กับสมบัติทางด้านเคมี กายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ 5 อำเภอ ซึ่งสามารถแบ่งดินออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะเนื้อดิน ได้แก่ ดินเนื้อปานกลาง-หยาบ (Sandy loam; ดินร่วนปนทราย, Loam; ดินร่วน) และดินเนื้อละเอียด (Silty clay; ดินเหนียวปนทรายแป้ง, Silty loam; ดินร่วนปนทรายแป้ง) และแบ่งระดับความอุดมสมบูรณ์เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ปานกลาง และระดับความอุดมสมบูรณ์สูง โดยกลุ่มดินเนื้อปานกลาง-หยาบ ระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ปานกลาง ได้แก่พื้นที่ อ. พร้าว ที่พบว่ากรรมวิธีการไถพรวนดินด้วยโรตารี่ร่วมกับการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวในแปลง และการไถพรวนด้วยโรตารี่ซ้ำอีกครั้งหลังการหมักดิน 7 วัน...