No Image Available

การหาสัดส่วนมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษภายในและภายนอกกรุงเทพมหานครที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร

- Contribution of Inside and Outside-city Air Pollution Sources to the PM2.5 Concentration and the Cost-benefit Analysis of the Mitigation Measures of the Transport Sector in Bangkok
 ผู้แต่ง:: ผศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล  หน่วยงาน:: สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย  ปีเผยแพร่:: 2021  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

งานวิจัยนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อประเมินหาสัดส่วนมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษจากภายในและภายนอก กรุงเทพมหานคร ที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดการปัญหาฝุ่นขนาดเล็กได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยที่สามารถแจกแจงได้ถึงแหล่งกำเนิดที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครว่ามาจากแหล่งกำเนิดมลพิษในกรุงเทพ นอกกรุงเทพ และต่างประเทศสัดส่วนเท่าไหร่ โดยงานวิจัยนี้ได้พัฒนาบัญชีการระบายมลพิษของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามเพื่อประเมินมลพิษในปี 2562 และใช้แบบจำลองทางคณิตศาตร์ WRF-CAMx เพื่อประเมินสัดส่วนของมลพิษดังกล่าว การพัฒนาบัญชีการระบายสารมลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับปีฐาน 2562 ครอบคลุม 13 แหล่งกำเนิดมลพิษ โดยแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปฐมภูมิและทุติยภูมิในบรรยากาศที่เกิดจากมนุษย์ ได้แก่ ยานพาหนะในภาคขนส่ง (PM2.5= 21.3%, CO= 23.0%, NOx = 47.1% และ NMVOC = 40.2%) การเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่ง (PM2.5= 43.0%, CO= 41.0% NMVOC = 27.4% และ NH3 = 59.1%) และโรงงานอุตสาหกรรม (PM2.5= 16.9%, NOx = 40.0% และ SO2 = 79.1%) เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาอื่น พบว่า บัญชีการระบายสารมลพิษอยู่ในเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ ยกเว้นแหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง พบว่า มีค่าสูงกว่าการศึกษาอื่น กรุงเทพมหานครมีการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงที่สุด 12.7 กิโลตันต่อปี หรือคิดเป็น 24.9% จาก 6 จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแหล่งกำเนิดมลพิษหลักคือ ยานพาหนะในภาคขนส่ง 34.8% ฝุ่นจากถนน 20.0% และการเผาไหม้ชีวะมวลในที่โล่ง 19.8% อย่างไรก็ตามสำหรับจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม มีแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คือ การเผาไหม้ในที่โล่งคิดเป็น 74.0%, 52.0% และ 66.2% ตามลำดับ ในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร พบว่าแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คือ โรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็น 54.8% และ 52.1% ตามลำดับ การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ WRF-CAMx เพื่อใช้ในการศึกษาและประเมินสัดส่วนความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าในเดือนมกราคม กรุงเทพมหานคร ได้รับผลกระทบจากจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยประมาณ 20-45% กรุงเทพมหานครประมาณ 16-32% ประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 6-48% และจังหวัดปริมณฑลประมาณ 1-29% ในส่วนของเดือนตุลาคมกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยประมาณ 17-54% กรุงเทพมหานครประมาณ 17-57% ประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 8-38% และจังหวัดปริมณฑลประมาณ 10-22%

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - โครงการเดี่ยว

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM