No Image Available

การประเมินประสิทธิผลของมาตรการและเสนอแนวทางรองรับมาตรฐาน PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

- Evaluation of the Effectiveness of PM2.5 Reduction Measures and Proposed Amendments of the Measures conform to the Standard of PM2.5 in Bangkok Metropolitan Area
 ผู้แต่ง:: ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ  หน่วยงาน:: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ปีเผยแพร่:: 2023  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคมเป็นวงกว้าง งานวิจัยนี้มีวัตุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของมาตรการลด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเสนอแนวทางรองรับมาตรฐาน PM2.5 โดยดำเนินการศึกษามาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในปี พ.ศ. 2563 – 2564 เปรียบเทียบกับปีฐาน พ.ศ. 2562 และสร้างสถานการณ์จำลอง และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของ PM2.5 ในบรรยากาศด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ WRF-Chem รวมถึงการระดมความคิดเห็นต่อมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในปี พ.ศ. 2563-2564 เป็นมาตรการเชิงรับมากกว่ามาตรการเชิงรุก โดยมาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิผลสูงประกอบด้วย มาตรการห้ามเผาในที่โล่ง มาตรการห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ ขึ้นไป ที่ใช้น้ำมันดีเซลเข้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 สูงที่สุด 15-19% ในปี พ.ศ.2563 และมาตรการการกวดขัดห้ามเผาในที่โล่งและบังคับใช้กฎหมายความผิดในการเผาในที่โล่งมีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 สูงที่สุด 19-35% ในปี พ.ศ.2564 อย่างไรก็ตามการลดลงของ PM2.5 ในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ในปี พ.ศ. 2563 – 2564 นั้นได้รับปัจจัยเสริมจากความเร็วลมและทิศทางลมที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 ในช่วงวิกฤตฝุ่น ในปี พ.ศ. 2563-2564 ทั้งในพื้นที่ริมถนนและพื้นที่ทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี พ.ศ.2562 และงานวิจัยนี้ได้พิจารณาประสิทธิผลของมาตรการด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ WRF-Chem ทั้ง 3 มาตรการ ได้แก่ 1) การทำงานจากระยะไกล (Work from Remote) 2) การเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทดีเซลเป็นก๊าซธรรมชาติหรือไฟฟ้า และ 3) การลดกำลังผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ผลการศึกษาพบว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่ไม่ส่งผลในการลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แม้ว่าจะลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นโดยตรง แต่ปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศที่ทำให้เกิดฝุ่นทุติยภูมิยังมีอยู่ เนื่องจากในบรรยากาศยังมีสารตั้งต้น (Precursors) ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ยังคงอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาฝุ่น ควรมุ่งเน้นการควบคุมแหล่งกำเนิดและสารตั้งต้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานที่มีอำนาจสั่งการแบบ “คำสั่งเดียว” เพื่อให้มาตรการดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไปในทิศทางเดียวกัน การบริหารที่มีประสิทธิภาพนี้จะช่วยลดผลกระทบจากฝุ่นละอองได้อย่างยั่งยืน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - โครงการเดี่ยว

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM