
การศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จของชุมชนต้นแบบในการประยุกต์ใช้มาตรการลดการเผาในที่โล่งของจังหวัดลำปาง
“การศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จของชุมชนต้นแบบในการประยุกต์ใช้มาตรการลดการเผาในที่โล่งของจังหวัดลำปาง” มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์หาปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลดการเผาในที่โล่งของชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปาง และจัดทำรูปแบบและองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการมลพิษจากการเผาในที่โล่ง เป็นการศึกษาวิจัยผสมผสานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยการศึกษาข้อมูลผ่านเอกสาร การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสอบถามทางสภาพเศรษฐกิจสังคมและสาธารณสุข เวทีสนทนากลุ่มย่อย การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค นำมาสังเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลดการเผาในที่โล่งของชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปาง และรูปแบบและองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการมลพิษจากการเผาในที่โล่งของชุมชนต้นแบบ ตลอดจนข้อเสนอแนะกลยุทธ์และมาตรการการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย โดยได้คัดเลือกพื้นที่ศึกษาในจังหวัดลำปาง 4 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านต้นต้อง ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง 2) บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ 3) บ้านขอใต้ ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน และ 4) บ้านแก่น ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ
จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ศึกษาทั้ง 4 แห่ง ริเริ่มดูแลทรัพยากรและจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าเนื่องจากป่าเสื่อมโทรมจนเกิดวิกฤตแห้งแล้ง มีปัจจัยแห่งความสำเร็จร่วม 7 ปัจจัย ได้แก่ 1) ผู้นำและคณะกรรมการชุมชนมีความเข้มแข็ง 2) กระบวนการเรียนรู้ค้นหาปัญหาและการแก้ไขปัญหาของชุมชน 3) การจดทะเบียนและจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน 4) การออกกฎระเบียบจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 5) การมีแผนจัดการป่าชุมชนที่ชัดเจนต่อเนื่องตลอดทั้งปี 6) ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อ และ 7) การยอมรับและสนับสนุนจากภายนอก ผู้วิจัยเสนอรูปแบบและองค์ประกอบเป็นรูปแบบ “การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ (Co-management)” กระบวนการทำงานประกอบด้วย การริเริ่มและสร้างความร่วมมือ อาศัยการคิดร่วมกันของกระบวนการวิจัยท้องถิ่น ค้นหาปัญหา จัดตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการชุมชน และร่วมกันค้นหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา การกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ของชุมชน ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิถีชีวิต การสร้างช่องทางสื่อสารที่ครอบคลุมเข้าถึงคนในชุมชนทุกกลุ่ม การมีแผนการจัดการไฟที่เหมาะสมกับบริบท
พื้นที่ตลอดทั้งปีการเรียนรู้เพิ่มทักษะและพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมแนวทางปลอดการเผา และการนำประเพณีประจำถิ่นมาเป็นกุศโลบาย โดยมีองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่ ผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำตามกฎหมาย คณะทำงานชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และเครือข่ายภาคประชาสังคมนอกจากนั้นผู้วิจัยเสนอแนะกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างความตระหนัก การสร้างผู้สืบทอด การส่งเสริม ประเพณีประจำถิ่น การสร้างระบบระวังไฟ และการใช้มาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์
คำสำคัญ : ปัจจัยแห่งความสำเร็จ, การเผาในที่โล่ง, ชุมชนต้นแบบ, ปัญหาไฟป่า