
โครงการบูรณาการของการใช้เห็ดเผาะเพื่อฟื้นฟูป่าและลด PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า ในบริเวณพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน
ปัญหาไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูนมีความรุนแรงมากเป็นอันดับต้นของประเทศ และเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดหมอกควัน PM2.5 ที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุหลักของไฟป่าเหล่านี้มาจากปัญหาปากท้องของชาวบ้านซึ่งต้องพึ่งพาป่าในการดำรงชีวิต เช่น ต้องการเห็ดเผาะ และผักหวานป่า เพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้ โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในปีแรก ได้แก่ 1.) ลดการเผาป่าและ PM 2.5 ด้วยการฟื้นฟูป่าชุมชนและเพิ่มผลผลิตเห็ดเผาะในพื้นที่ป่าชุมชนโดยการไม่เผาป่า 2.) สร้างป่าไม้พื้นถิ่นต้นแบบ ที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้อย่างยั่งยืน สำหรับการดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การทำวิจัยและการขยายผล ในการทำวิจัยแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ ในพื้นที่แรกเป็นการฟื้นฟูป่าชุมชนด้วยราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ โดยวางแปลงศึกษาในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านก้อทุ่ง และ ป่าชุมชนบ้านห้วยทรายขาว อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แต่ละพื้นที่แบ่งเป็นแปลงทดลองใส่ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ และ แปลงทดลองควบคุมที่ไม่ใส่ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ แปลงละ 3 ซ้ำ จากการตรวจสอบรากไมคอร์ไรซาในป่าชุมชนบ้านก้อทุ่งและบ้านห้วยทรายขาวด้วยวิธีทางสัณฐานวิทยาและอณูชีววิทยา ทุก 3 เดือน ระหว่างพฤษภาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 พบจำนวนปลายรากเฉลี่ย 53 และ 283 ปลายรากต่อตัวอย่าง จำแนกเป็นลักษณะรากไมคอร์ไรซา 12 และ 16 ลักษณะตามลำดับ ถึงแม้ว่ายังไม่พบรากไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ แต่พบการเปลี่ยนแปลงของจำนวนรากไมคอร์ไรซาและคุณสมบัติดินในรอบปี เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่นำมาประยุกต์ใช้ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะเพื่อเพิ่มผลผลิตของเห็ดเผาะให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ส่วนงานวิจัยในอีกพื้นที่เป็นการปลูกป่าต้นแบบในพื้นที่รอยต่ออุทยานด้วยกล้าไม้วงศ์ไม้ยางร่วมกับการใช้ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ โดยสร้างแปลงปลูกป่าขนาด 15 ไร่ ในเขตอุทยานซึ่งแต่เดิมถูกบุกรุกทำการเกษตร ใช้ปลูกป่า 3 ประเภท ๆ ละ 5 ไร่ ได้แก่ ป่าเต็งรัง เบญจพรรณ และเต็งรังผสมเบญจพรรณ โดยใช้ระยะปลูก 4 ระยะ ใช้กล้าไม้พื้นถิ่น 13 ชนิด เป็นจำนวน 6,888 ต้น หลังจากย้ายปลูก 7 เดือนพบว่ากล้าไม้มีอัตราการรอดร้อยละ 76-98 และมีการเจริญเติบโตดี มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 30 เซนติเมตร จากการวิเคราะห์สังคมราในดินก่อนปลูก พบว่าส่วนใหญ่เป็นราในไฟลัม Ascomycota ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย หลังย้ายปลูกกล้าไม้ 7 เดือนพบราในไฟลัม Basidiomycota รวมถึงราเอคโตไมคอร์ไรซามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สำหรับการขยายผลในปีแรกของโครงการเป็นการสร้างแปลงต้นแบบวนเกษตรในพื้นที่ของเกษตรกร เป็นการปลูกต้นกล้ายางนาและตะเคียน ซึ่งมีการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ ร่วมกับไม้เกษตรทั้ง 3 ชั้นเรือนยอด จำนวน 11 ชนิด และพืชไร่ ได้แก่ ถั่วเขียว จากการดำเนินงานทุกส่วนของโครงการในครั้งนี้นับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ไฟป่าและหมอกควันจากการเผาป่าเพื่อหาของป่าของชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงลดลง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากจำนวนวันที่มีค่า PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ในเดือนกุมภาพันธ์ลดงจาก 28 วันในปี 2564 เหลือเพียง 4 วันในปี 2565 รวมถึงขนาดของพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ในปีนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน และจะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการไฟป่าและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าอย่างยั่งยืน