
การประยุกต์ใช้เทคนิคกลไกธรรมชาติปรับปรุงสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเพื่อรองรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
วิกฤตปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนวัยประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ แม้หลายภาคส่วนจะพยายามกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศแต่ยังคงพบว่าจำนวนคนป่วยจากฝุ่น PM2.5 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น การศึกษานี้จึงต้องการหาแนวทางการป้องกันกลุ่มเสี่ยงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยภายใต้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้โรงเรียนที่มีการสอนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในอำเภอเมืองเชียงใหม่จำนวน 31 แห่งเป็นกลุ่มประชากรในการศึกษาครั้งนี้ การศึกษานี้เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความเปราะบางของโรงเรียนต่อความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ด้วยดัชนีชี้วัดด้านการเปิดรับฝุ่น PM2.5 และความสามารถในการรับมือของโรงเรียน ผลการวิจัยทำให้ทราบว่าโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีความเปราะบางต่อฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับปานกลางถึงสูงมาก สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของโรงเรียนและทิศอาคารเรียนเป็นปัจจัยสำคัญด้านกายภาพของโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 จำกัด ข้อมูลส่วนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อการออกแบบภูมิทัศน์และองค์ประกอบอาคารด้วยการนำทฤษฎีการออกแบบแบบพึ่งพาธรรมชาติมาบูรณาการร่วมกับทฤษฎีการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติและพลศาสตร์ของไหล (CFD) ทำให้ได้รูปแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์และองค์ประกอบอาคารเรียนตามทิศทางอาคารเรียนและการจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนที่ประกอบด้วย การจัดวางตำแหน่งต้นไม้ที่เหมาะสม การวางแนวรั้วไม้พุ่มและการสร้างส่วนยื่นแนวตั้งและส่วนยื่นแนวนอนให้กับอาคารที่มีแตกต่างกันตามทิศทางการหันหน้าอาคารเรียน 8 ทิศทางพร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการตัดสินใจเพื่อดำเนินการปรับปรุงโรงเรียนภายใต้บริบทและข้อจำกัดของโรงเรียนด้วย