No Image Available

องค์ประกอบทางเคมีของพีเอ็ม 2.5 ในการจำแนกแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย

- Chemical compositions of PM2.5 as sources indicators in Nong Khai Municipality
 ผู้แต่ง:: ผศ. ดร.สิราภรณ์ โพธิวิชยานนท์  หน่วยงาน:: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ปีเผยแพร่:: 2021  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

งานวิจัยนี้ใช้องค์ประกอบหลักทางเคมีในตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เก็บในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 จาก 3 พื้นที่ของจังหวัดหนองคาย (เทศบาลเมืองหนองคาย เทศบาลตำบลหาดคำ และอำเภอสระใคร) ตัวอย่างนำไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ สารกลุ่มคาร์บอน (3 ชนิด) ไอออนละลายน้ำ (10 ชนิด) และธาตุปริมาณน้อย (20 ชนิด) นำไปใช้วิเคราะห์หาสัดส่วนของแหล่งกำเนิดหลักด้วยแบบจำลอง Positive Matrix Factorization (PMF) และวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ของแหล่งกำเนิดด้วย Conditional Probability Function (CPF) ค่าเฉลี่ยรายวัน PM2.5 มีระดับต่ำคล้ายกันทั้งสามพื้นที่ในช่วงฤดูฝน (<20 มคก./ลบ.ม.) ก่อนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นฤดูหนาว และเริ่มเกินมาตรฐานฯ (50 มคก./ลบ.ม.) ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ปริมาณ PM2.5 ของสถานีฯ หนองคายบางวันเกิน 100 มคก./ลบ.ม. สถานีฯ หาดคำเกิน 80 มคก./ลบ.ม. และสถานีฯ สระใครไม่เกิน 80 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยรายวัน PM2.5 ในหนองคายสูงกว่าเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนที่ข้ามแดนจากลมในทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าช่วงอื่น (ร้อยละ 65 – 72) และอิทธิพลจากการเคลื่อนที่ภายในประเทศ (ร้อยละ 15 – 23) ร่วมกับมีความสูงของชั้นผสมต่ำ (<100 เมตร) และมีความเร็วลมต่ำ ปริมาณอินทรีย์คาร์บอนมีสัดส่วนร้อยละ 54 – 58 และซัลเฟตไอออนมีสัดส่วนร้อยละ 14 – 21 ทำให้เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญใน PM2.5 ของหนองคาย แอมโมเนียมและไนเตรทไอออนพบสูงเป็นลำดับสาม พื้นที่ชนบท (สระใคร) พบปริมาณแอมโมเนียมไอออนสูงกว่าพื้นที่เมือง ธาตุปริมาณน้อยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 1 โดยมีธาตุสังกะสี ธาตุอะลูมิเนียม ธาตุโบรอน และธาตุตะกั่วเป็นธาตุหลักที่พบสูงกว่าธาตุปริมาณน้อยชนิดอื่น การเผาชีวมวลเป็นแหล่งกำเนิดที่มีสัดส่วนสูงกว่าแหล่งกำเนิดอื่นในพื้นที่หนองคาย (ร้อยละ 39 – 48) ฝุ่นทุติยภูมิมีความสำคัญเป็นลำดับสองของพื้นที่เมือง (ร้อยละ 27 – 36) ในขณะที่ฝุ่นฟุ้งกระจายมีสัดส่วนสูงเป็นลำดับสองในพื้นที่ชนบท (ร้อยละ 24) แหล่งกำเนิดจากการฟุ้งกระจาย (ในเมือง) ฝุ่นดิน ฝุ่นถนนมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 12 การควบคุมระดับของ PM2.5 ในพื้นที่หนองคายควรให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดจากการเผาชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิ มากกว่าแหล่งกำเนิดอื่น

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - โครงการเดี่ยว

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM