No Image Available

การลดการเกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควันโดยกระบวนการบริหารจัดการ ทรัพยากรท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- The Reduction of Forest Fire and Haze Problem by the Local Community Participation on Resources Management in Mae Hong Son Province
 ผู้แต่ง:: ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์  หน่วยงาน:: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ปีเผยแพร่:: 2021  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย  อีเมล:: tatporn@gmail.com More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การลดการเกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควันโดยกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการทรัพยากรและลดปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการเก็บตัวอย่างจำนวน 7 ชุมชนตัวแทนอำเภอ ได้แก่ หมู่บ้านนาปลาจาด อำเภอเมือง หมู่บ้านใหม่ อำเภอปาย หมู่บ้านปางคาม อำเภอปางมะผ้า หมู่บ้านห้วยไก่ป่า อำเภอแม่ลาน้อย หมู่บ้านไร่ อำเภอแม่สะเรียง หมู่บ้านแม่อูคอหลวง อำเภอขุนยวม และหมู่บ้านแม่ทะลุ อำเภอสบเมย ทำการเก็บตัวอย่างโดยการกำหนดเขตพื้นที่แนวกันไฟเปียก และพื้นที่ปลอดไฟ ทำการเก็บข้อมูลความชื้นดิน สมดุลน้ำ ผังน้ำชุมชน และแนวทางการจัดการไฟเปียกในพื้นที่ กำหนดขอบเขตการจัดการป่าชุมชนปลอดการเผา บนฐานข้อมูลพรรณพืช และระบบนิเวศป่าไม้ รวมถึงกาใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสร้างฐานข้อมูลพรรณไม้ในพื้นที่ และแผนการดูแลและใช้ประโยชน์พรรณไม้โดยชุมชนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น และพฤกษศาสตร์พื้นที่ สร้างเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ศึกษาความหลากหลายจุลินทรีย์ท้องถิ่นและคัดแยกกลุ่มจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีประโยชน์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการย่อยสลายวัสดุกำเนิดไฟและพัฒนาเป็นปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพต้นแบบ โดยทำการเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นจากดินในพื้นที่ป่าที่เคยไฟป่าและพื้นที่เกษตร รวมถึงศึกษาชนิดของใบไม้แห้งในป่าและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ทำให้เกิดไฟ ใช้แบบสอบถาม แบบทดสอบ และชุดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาสำหรับเยาวชนและชุมชน กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใช้ประกอบด้วย 2 หน่วยการเรียนรู้ 4 กิจกรรม ที่เน้นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก ทัศนคติ ทักษะ และการมีส่วนร่วม พบว่าฤดูแล้งมีความชื้นน้อยกว่าและชุมชนมีแผนในการจัดการน้ำในแนวกันไฟเปียกโดยการกักเก็บน้ำในรูปแบบของฝายชะลอน้ำ และฝายภูมิปัญญาที่สามารถสร้างความชื้นและเกิดแนวพรรณพืชริมฝั่งเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ สมดุลน้ำในทั้งทุกชุมชนมีปริมาณน้ำต้นทุนส่วนใหญ่จากปริมาณน้ำฝน พบว่า 5 ใน 7 หมู่บ้าน มีสภาพเป็นป่าผสมผลัดใบ (Mixed Deciduous Forest) โดยสามารถแบ่งกลุ่มย่อยได้เป็น กลุ่มป่าเบญจพรรณ 4 หมู่บ้าน ป่าเป็นป่าไม่ผลัดใบ 2 ชุมชน และในกลุ่มป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) 1

ชุมชน และเมื่อนำข้อมูลที่ได้จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ของพื้นที่และศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน ปี พ.ศ. 2564 พบว่าหมู่บ้านที่มีลักษณะป่าเป็นป่าผสมผลัดใบ ทั้งกลุ่มป่าเบญจพรรณและป่าเต็ง-รัง จะมีการเกิดไฟไหม้ป่าได้ง่ายและมากกว่า กลุ่มหมู่บ้านที่เป็นป่าไม่ผลัดใบ (ป่าดิบเขา) ซึ่งมีการเกิดไฟป่าในพื้นที่น้อยมาก และจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ชุมชน เพื่อเผยแพร่ให้ชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจใบไม้แห้งในป่าพบ ใบตองตึง ใบสักและใบไผ่ มากที่สุดและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรพบซังข้าวโพดและฟางข้าวมากที่สุด จากการศึกษาการคัดแยกจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีประโยชน์พบแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus spp. มากที่สุด สามารถเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่คัดแยกจากพื้นที่ชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพของชุมชนเอง รวมถึงการสร้างแนวทางการลดใบไม้แห้งในป่าและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรร่วมกับชุมชนในการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การทำงานแบบบูรณาการมาช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงการร่วมวิเคราะห์สาเหตุจากคนในพื้นที่ การใช้องค์ความรู้ทางภูมิสังคมในการร่วมพิจารณาแหล่งที่มาของปัญหาในหลาย ๆ ด้าน พร้อมกับทำความเข้าใจบริบท ศึกษาลักษณะระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน หากเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันและประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับองค์ความรู้สมัยใหม่สร้างเครือข่ายภายในชุมชน บูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ และป่าไม้ รวมถึงการลดการเกิดไฟป่า จะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการป้องกันและแก้ไข ในทุกชุมชน และชุมชนมีแผนปฏิบัติการและมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนและความเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยมีการวางแผนพัฒนาการป้องกันไฟป่าของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

 

คำสำคัญ : ไฟป่า การมีส่วนร่วม ทรัพยากรธรรมชาติ แม่ฮ่องสอน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - แผน

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM