
โครงการวิจัยเชิงบูรณาการด้านเทคโนโลยีและสังคมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร
รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 แต่ปัญหานี้ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า “สาเหตุและการแก้ไขนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่” โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดจากภาคการขนส่ง แผนงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่างๆที่ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยแบบจำลองการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างง่าย โดยแบบจำลองฯ นี้ เป็นผลผลิตที่เกิดจากความเชื่อมโยงของโครงการย่อย ได้แก่ (ก) การตรวจวัดและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี (ข) ความสัมพันธ์ระหว่างการจราจรและฝุ่น และ (ค) แบบจำลอง การกระจายตัวของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในและนอกพื้นที่ รวมถึงอิทธิพลของความเป็นเมือง ผลจากการประเมินมาตรการของรัฐด้วยแบบจำลองการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างง่ายเพื่อลดปัญหาPM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ ดังนี้ (1) การจัดการวัสดุทางการเกษตร ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักและ ฟางข้าวแปรรูปลดฝุ่นได้ร้อยละ 26 (2) ฝุ่นลดลงร้อยละ 20 สำหรับนโยบายส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าโดยเฉพาะรถขนส่งสาธารณะ (3) การติดตั้ง DieselParticulateFilter (DPF) ในรถโดยสารประจำทาง รถบรรทุกมีประสิทธิภาพลดฝุ่นได้ร้อยละ 18 (4) การตรวจจับควันดำฝุ่นลดลงได้ร้อยละ 4 และ (5) การลดปริมาณซัลเฟอร์ในน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินลดฝุ่นได้ร้อยละ 3 โดยเน้นที่การควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ (Source) ที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ภาคการขนส่ง ฝุ่นทุติยภูมิ/ภาคอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ซึ่งภาครัฐได้กำหนดมาตรการเหล่านี้ บ้างแล้วแต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำหนดนโยบาย/กฎหมาย โดยพิจารณาทั้งในมิติของแหล่งกำเนิดและมิติของเวลา และดำเนินการให้สอดคล้องกับ Next Stage And Development Measures ของ Asian Co-benefits Partnership (ACP) การควบคุมแหล่งกำเนิดจากภาคการขนส่งและความหนาแน่นของการจราจรในเมือง ควรพิจารณา ในมิติของการทำให้การเดินทางของคนเมืองมีความปลอดภัย ประหยัด รัก(ษ์)สิ่งแวดล้อม ซึ่งคือ การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ ระบบนิเวศของการใช้จักรยานและการเดินเท้า ในด้านการควบคุมการเผาในที่โล่ง ควรพิจารณาในมิติการจัดการปัญหาเศษวัสดุทางการเกษตรแบบครบวงจร (Better Management Of Agricultural Crop Residues) จึงเป็นการจัดการคุณภาพอากาศแบบยั่งยืน
คำสำคัญ: เครื่องคัดฝุ่นละอองขนาดนาโน/ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี/ แบบจำลองการแยกตัวประกอบเชิงบวก / ส่วนประกอบการจราจร/ บัญชีการระบายมลพิษ/ แบบจำลองประเมินการกระจายตัวของมลพิษอากาศ/ ลักษณะของบริเวณช่องว่างเหนือถนนและอยู่ระหว่างตึกสูงในเมือง/ แบบจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ/แบบจำลองการตัดสินใจอย่างง่าย/ มาตรการและแนวทางต่างๆ ที่มีศักยภาพ