
การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง”
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในปี 2562 กำหนดให้มลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข จากแผนปฏิบัติการมีการกำหนดมาตรการในการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในหลากหลายประเด็น คณะผู้วิจัยทำการประเมินมาตรการที่สำคัญ จำนวน 11 มาตรการจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และหน่วยงานอื่น โดยศึกษาปริมาณการปล่อย PM2.5 ที่ลดลง ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ และประสิทธิผลของการการนำมาตรการมาปฏิบัติ จากทั้งหมด 11 มาตรการ พบว่า 8 มาตรการสามารถทำให้ปริมาณการปล่อย PM2.5 ลดลงได้โดยตรงจากการกำหนดสถานการณ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด โดยที่การลดการเผาในที่โล่งร้อยละ 40 จะสามารถลดการปล่อย PM2.5 ได้มากที่สุดในช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควัน อย่างไรก็ตามในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหมอกควัน การลดกำลังการผลิตร้อยละสิบของโรงงานอุตสาหกรรมหรือการตรวจจับรถยนต์และเรือควันดำอย่างเข้มงวดจะสามารถลดปริมาณการปล่อย PM2.5 ได้มากที่สุด ต้นทุนส่วนเพิ่มและการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลจากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า มาตรการการทำงานจากระยะไกลและการลดการเผาในที่โล่ง เป็นมาตรการที่ควรถูกนำไปใช้ในช่วงวิกฤติหมอกควัน ในขณะที่มาตรการการลดกำลังการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหรือการห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในด้านการลด PM2.5 จากการประเมินผลกระทบด้านสังคมพบว่ามาตรการที่เลือกมาใช้ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับต่ำยกเว้นมาตรการการลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับสูง จากการสำรวจพบว่าประชาชนจะมีความพึงพอใจสูงสุดต่อมาตรการที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมเช่น การเพิ่มพื้นที่เขียวในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับการศึกษา
ผลกระทบต่อสุขภาพในภาพรวม พบว่าระดับ PM2.5 จากโมเดลที่พัฒนาจากค่า AOD ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปี 2553-2562 แสดงแนวโน้มที่ลดลงในช่วงครึ่งหลังอย่างมีนัยสำคัญ และการศึกษาผลกระทบของการรับสัมผัสระยะสั้นจาก PM2.5 พบว่า ทุก 10 มคก. ต่อ ลบม. ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคทางเดินทางหายใจถึงร้อยละ 3-4 การใช้แบบจำลอง CIPPI ประเมินประสิทธิผลของการนำมาตรการมาปฏิบัติและการบูรณาการผลกระทบในทุกด้าน แสดงให้เห็นว่าแต่ละมาตรการก่อให้เกิดประสิทธิผลที่แตกต่างกัน โดยที่มาตรการที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดสามลำดับแรกคือ การลดการเผาในที่โล่ง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดสำหรับรถยนต์และเรือที่มีควันดำ และการทำงานจากระยะไกล