แนะนำการใช้งานระบบน้องฟางข้าว

Web site

Web site – ระบบน้องฟางข้าว

โครงการการพัฒนาระบบการคาดการณ์ศักยภาพการรองรับปริมาณการระบาย PM2.5 ของพื้นที่สำหรับสนับสนุนการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรกรรมในระดับท้องถิ่น หัวหน้าโครงการ: อาจารย์สมโภค กิ่งแก้ว

การเผาในที่โล่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25-40 ในปี 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และมีการกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562 ซึ่งในมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ตามแนวทางการดำเนินการที่ 3.2 ในการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ในมาตรการที่ 3.2.4 มีการเสนอให้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดระเบียบการเผาภาคการเกษตร โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลัก

โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่ในประเทศไทยในการรองรับการระบาย PM2.5 สำหรับสนับสนุนการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรระดับท้องถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ คือ การคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับปริมาณการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่งของภาคเกษตรกรรม ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ในการคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่เพื่อรองรับการระบาย PM2.5 ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ล่วงหน้า ในการพัฒนาระบบคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่และระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการอนุญาตให้มีการดำเนินการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยวิธีการเผาในที่โล่งระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างศักยภาพของท้องถิ่นสำหรับการมีส่วนร่วมในการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาระบบการจัดการเศษวัสดุทางเกษตรด้วยวิธีการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายของการจัดการวัสดุทางเกษตรในระดับท้องถิ่น ผลลัพธ์ของโครงการจะสามารถบอกถึงวันที่ พื้นที่ และปริมาณเศษวัสดุทางการเกษตรที่สามารถอนุญาตให้มีการดำเนินการเผาได้ล่วงหน้า ได้ รวมถึงมีระบบที่สามารถอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการและติดตามการทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถลดวันที่มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลงได้อย่างมีประสิทธิผล

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต

แม้ระบบการจัดระเบียบการเผา “น้องฟางข้าว” เป็นเพียงแนวทางในการบริหารจัดการและควบคุมปัญหามลพิษอากาศจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในระยะสั้น เพื่อรอหน่วยงานส่วนภาครัฐทางแนวทางการแก้ปัญหาและหาทางออกในการจัดการปัญหามลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดในระยะยาว ระบบน้องฟางข้าวสามารถช่วยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการควบคุมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้ และหากสามารถขยายระบบน้องฟางข้าวไปใช้ในการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศที่มีแหล่งกำเนิดมาจากภาคเกษตรกรรมในพื้นที่อื่นๆ จะช่วยให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆสามารถควบคุมการเผาในที่โล่งร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลโลยีในการจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจากแหล่งกำเนิดด้วยวิธีการไม่เผาจะช่วยให้หน่วยงานส่วนภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหามลพิษอากาศจากภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต การนำระบบน้องฟางข้าวมาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบการซื้อขายเศษฟางข้าว ซึ่งนอกจากจะช่วยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหามลพิษอากาศด้วยการไม่เผาแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับมติ ครม. ในการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากภาคเกษตรกรรม และสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ศึกษาที่ต้องการให้มีการพัฒนาระบบดังกล่าว

โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ศูนย์ความร่วมมือด้านอากาศสะอาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCCACC) อาคารปิยชาติชั้น 5 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

Leave a Comment