
ประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ ๓ (ภาคเหนือ)
แผนวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (ภาคเหนือ) ระยะที่ 3 มีการนําองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาต่อยอดเพื่อใช้งานและขยายผล (Implementation and Extension) ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลําปาง และ ลําพูน ซึ่งประสบปัญหาด้านคุณภาพอากาศและฝุ่น PM 2.5 มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง โดยใน ระยะที่ 1 คณะผู้วิจัยได้ทําการศึกษาค้นหาข้อเท็จจริง (Fact-finding) ถึงสาเหตุและแหล่งกําเนิดฝุ่นควัน เพื่อหาแนวทางลดการแพร่กระจายของหมอกควัน อาทิ ศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน ออกแบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ทางการเกษตร ศึกษาผลกระทบของหมอกควันในชุมชน และศึกษาการแพร่กระจายของหมอกควันในประเทศไทย ต่อมาในระยะที่ 2 คณะผู้วิจัยได้นําข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้จากระยะที่ 1 มาทําการจําลองต้นแบบและทดลองใช้งาน (Modeling and Proof of Technology) ของระบบคาดการณ์หมอกควันโดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบ สร้างเครือข่ายประเทศไร้หมอกควันสําหรับกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย และบูรณาการการเกษตรเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงการส่งเสริมการทําปศุสัตว์เพื่อลดการเผาในที่โล่ง
สําหรับการดําเนินการของแผนวิจัยระยะที่ 3 เป็นการต่อยอดองค์ความรู้โดย (1) การพัฒนาความรู้ระบบพยากรณ์อากาศและแอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย (2) การดําเนินการทบทวนและถอดบทเรียนการบริหารจัดการหมอกควันในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และ (3) การวิเคราะห์เชิงนโยบายและแผนในการจัดการปัญหาในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และการสร้างเครือข่ายในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้บรรลุวัตถุประสงค์คือ (1) การได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลและแอปพลิเคชันสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันได้แก่ 1. Burn Check 2. Fire D 3. Air Vista และ 4. www.hazefreethailand.org (2) การได้ทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อนโอกาส อุปสรรค และช่องว่าง (gap) ในการบริหารจัดการหมอกควันในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และ (3) การได้ทราบถึงสภาพปัญหาของหมอกควัน แนวทางการดําเนินนโยบาย กลไกเสริมแรงเชิงบวกเพื่อจูงใจ และวิธีการนําองค์ความรู้และเครื่องมือพยากรณ์หมอกควันและคุณภาพอากาศ ไปพัฒนาและถ่ายทอดเพื่อจัดการปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายวิจัยเพื่อให้สามารถทํางานแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อย่างยั่งยืนทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและจัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการบูรณาการการแก้ปัญหาหมอกควันแบบมีส่วนร่วม
คําสําคัญ หมอกควัน คุณภาพอากาศ ภาคีเครือข่ายวิจัย ไฟป่า ภาคเหนือ ประเทศไทย