No Image Available

การขยายกำลังการผลิตวัสดุคอมพอสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซค์เพื่อใช้เป็นสารเคลือบแผ่นกรองสำหรับหน้ากากอนามัย ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรอง PM2.5 ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันโรคติดต่อเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหา PM2.5

- Industrial Upscaling of Hydroxyapatite and Titanium dioxide Composite Material using as a Filtered-Coating Material for Filtering Face Mask Having High Protection Efficiency of PM2.5 for prevention infectious disease respiratory system causing by PM2.5
 ผู้แต่ง:: ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์  หน่วยงาน:: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ปีเผยแพร่:: 2020  ประเทศ:: ไทย  ภาษา:: ไทย  อีเมล:: narupork@mtec.or.th, naruporn.mon@nstda.or.th More Details  อ่านเพิ่มเติม
 บทคัดย่อ:

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตวัสดุคอมพอสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซด์ เพื่อใช้เป็นสารเคลือบแผ่นกรองสำหรับหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมีขนาดอนุภาคเฉลี่ยเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในระดับอุตสาหกรรม อันจะส่งผลให้สามารถลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจของประชาชนที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับ PM2.5 และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ จากการดำเนินงานพบว่า การขยายกำลังการผลิตวัสดุคอมพอสิทฯ จำเป็นต้องมีการปรับขนาดเครื่องจักรและปัจจัยต่าง ในกระบวนการผลิต เช่น ปริมาณสารเคมี ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา และปัจจัยอื่น ที่แตกต่างจากการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม วัสดุคอมพอสิทฯ ที่สังเคราะห์ได้ยังคงมีคุณสมบัติเช่นเดิม โดยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 250 กรัม/รอบการผลิต เป็น 15 กิโลกรัม/รอบการผลิต เมื่อนำวัสดุดังกล่าวไปผลิตเป็นน้ำเคลือบสำหรับเคลือบบนนอนวูฟเวนชนิดเส้นใยพอลิเอเตอร์ผสมเส้นใยเรยอน (50% โดยน้ำหนัก) พบว่า แผ่นกรองที่ได้มีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงที่ดี จึงได้นำนอนวูฟเวนเคลือบด้วยวัสดุคอมพอสิทฯ ไปผลิตเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด KN95 ซึ่งมีรูปทรงตามมาตรฐานของประเทศจีน และชนิด KF94 ซึ่งมีรูปทรงตามมาตรฐานของประเทศเกาหลี โดยหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้ทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป จากการทดสอบหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ชนิดที่จ้างโรงงานผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า หน้ากากอนามัยทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการกรอง PM2.5 และไวรัสได้ถึง 99% ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากวัสดุคอมพอสิทฯ ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ชนิดสามารถจัดอยู่ในประเภท Type IIR ตามมาตรฐาน (EN14683:2019) หรือ Level 3 ตามมาตรฐาน (ASTM F2100:2019) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรอง PM2.5 และไวรัสสูงกว่าหน้ากากอนามัย Type I ตามมาตรฐาน (EN14683:2019) หรือ Level 1 ตามมาตรฐาน (ASTM F2100:2019) การขยายกำลังการผลิตวัสดุคอมพอสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซด์ในรูปแบบโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) เพื่อผลิตในระดับอุตสาหกรรม จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุคอมพอสิทฯ หากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างศักยภาพการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ภายในประเทศ สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์มลพิษที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน PM2.5 และส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง - โครงการเดี่ยว

Copyright © 2025 HTAPC-NRCT-CCCACC-TU | Hub of Talents on Air Pollution and Climate Inspiro Theme by WPZOOM