
การพัฒนาระบบการตรวจวัดการระบาย PM1.0, PM2.5 และ PM10 จากปล่องแบบต่อเนื่องออนไลน์ด้วยเวลาจริง
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการตรวจวัดการระบาย PM1.0, PM2.5 และ PM10 จากปล่องแบบต่อเนื่องออนไลน์ด้วยเวลาจริงเป็นไปมาตรฐาน U.S. EPA Method 201A และเพื่อใช้ตรวจหาสัดส่วนความเข้มข้นของ PM1.0, PM2.5 และ PM10 ระบายออกจากปล่องสำหรับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปใช้ในเชิงสิ่งแวดล้อม ต้นแบบระบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 3 ส่วนคือระบบการสุ่มตัวอย่าง (Sampling system) ระบบการวัด PM1.0, PM2.5 และ PM10 และระบบการส่งข้อมูลและแสดงผลแบบออนไลน์ สามารถวัดปริมาณความเข้มข้นเชิงมวล (Mass concentration) ของ PM1.0, PM2.5 และ PM10 ได้ในช่วง 0.25 – 250 mg/m3 มีขีดจำกัดการวัด (Resolution) 0.25 mg/m3 อัตราการสุ่มตัวอย่าง (Sampling rate) ปรับได้เร็วถึง 1 นาที สามารถปรับเลือกบันทึกและเก็บข้อมูลรายนาทีถึงระดับ 24 ชั่วโมง ช่วงของความเร็ว 4 – 20 m/s ความยาวของหัววัด 1.5 เมตร อุณหภูมิปล่องสูงสุด 200 องศาเซลเซียส โดยระบบสามารถส่งข้อมูลแบบออนไลน์ โดยผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G แสดงผลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเว็บบราวน์เซอร์ที่พัฒนาขึ้นได้สามารถรายงานข้อมูลสัดส่วนความเข้มข้นของ PM1.0, PM2.5 และ PM10 ระบายออกจากปล่องสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ในงานวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบส่วนประกอบย่อยของต้นแบบและสมรรถนะการทำงานต่างๆของเครื่องต้นแบบ ได้แก่ การทดสอบสัดส่วนการเจือจางของตัวเจือจางอนุภาค การทดสอบสูญเสียของอนุภาคที่คอคอดวาล์ว การทดสอบประสิทธิภาพและการสูญเสียอนุภาคในตัวดักความชื้น ทดสอบหาประสิทธิภาพการคัดแยกขนาดของหัวคัดขนาด การทดสอบคุณลักษณะของกระแสและแรงดันของชุดอัดประจุอนุภาค การทดสอบสมรรถนะของวงจรอิเล็กโทรมิเตอร์ การทดสอบนับจำนวนอนุภาคเปรียบเทียบกับเครื่องนับจำนวนอนุภาคแบบกระเจิงแสง การทดสอบการวัดความเข้มข้นเชิงมวลอนุภาคกับเครื่องวัด PM2.5 วิธีเทียบเคียง การทดสอบเปรียบเทียบการวัดกับเครื่องวัด PM2.5 วิธีเทียบเคียงกับ PM2.5 ในบรรยากาศ การทดสอบเปรียบเทียบการวัดกับเครื่องวัด PM2.5 วิธีเทียบเคียงกับชุดเตาเผาจำลอง การทดสอบการวัดกับชุดเตาเผาจำลองและการจำลองสภาพการทำงานในห้องปฏิบัติการ การทดสอบเปรียบเทียบการวัด PM2.5 และ PM10 กับวิธีมาตรฐาน EPA Method 201A และการทดสอบภาคสนาม ผลการทดสอบส่วนประกอบย่อยของต้นแบบและสมรรถนะการทำงานต่างๆทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับการทดสอบภาคสนามของเครื่องต้นแบบแสดงให้เห็นว่าต้นแบบสามารถวัดค่าความเข้มข้นเชิงมวลของ PM1.0, PM2.5 และ PM10 ได้และสามารถเทียบเคียงกับวิธีการมาตรฐาน U.S. EPA Method 201A
คำสำคัญ :