
ผลของ PM2.5 จากประเทศเพื่อนบ้านต่อระดับ PM2.5 ในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการประเมินฝุ่น PM2.5 ด้วยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากการสำรวจระยะไกล 2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการคาดการณ์การปลดปล่อย PM2.5 จากการเผาชีวมวลในที่โล่งร่วมกับปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาต่อการประเมินผลของ PM2.5 ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 3) เพื่อวิเคราะห์ผลของ PM2.5 จากประเทศเพื่อนบ้านต่อระดับ PM2.5 ในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จากผลการศึกษาพบว่า การประเมินค่าความเข้มเข้มของฝุ่น PM2.5 ด้วยข้อมูลผลิตภัณฑ์จากดาวเทียม MERRA-2 มีค่าต่ำกว่าที่ตรวจวัดได้จากสถานีภาคพื้นดินของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจำเป็นที่ต้องผ่านการปรับแก้แบบ Bias correction เพื่อช่วยปรับปรุงการประมาณค่าความเข้มข้นของ PM2.5 จากผลิตภัณฑ์ MEERA-2 ให้มีความถูกต้องมากขึ้นนอกจากนี้ระหว่างปี พ.ศ.2560 ถึง พ.ศ.2563 จำนวนจุดความร้อนสะสมมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งมักพบในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยและเพื่อนบ้านมีแนวโน้มของจำนวนจุดความร้อนลดลง ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้พื้นที่ในภูมิภาคนี้มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ ส่งผลให้จุดความร้อนในพื้นที่ศึกษาลดลงนอกจากนี้การสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนที่ร่วมกันดูแลและเฝ้าระวังด้วยการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ได้มากยิ่งขึ้นสำหรับพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นมักพบในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน อาจจะมีสาเหตุมากจากไฟป่าและการเผาไหม้เพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าไม้ ทุ่งหญ้า และพื้นที่เกษตรกรรม ตามลำดับ สำหรับพื้นที่เผาไหม้จากข้อมูลดาวเทียมจึงมีความสำคัญต่อการประเมินและคาดการณ์การปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 จากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่ง พบว่า ประเทศกัมพูชามีสัดส่วนคาดการณ์การปลดปล่อย PM2.5 มากที่สุดซึ่งมาจากพื้นที่เขตป่าไม้และทุ่งหญ้า รองลงมาคือประเทศไทย ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ เมื่อพิจารณาการคาดการณ์การปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 จากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่งรวมกับปัจจัย ทางอุตุนิยมวิทยา เช่น PBLH ความชื้น ความกดอากาศ ความเร็วลม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของค่าความเข้มข้น PM2.5 ที่ตรวจวัดจากข้อมูลดาวเทียม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ด้วยวิธี Geographically weighted regression (GWR) ส่วนใหญ่พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะช่วงเวลามกราคมถึงเมษายน จึงสรุปได้ว่าการคาดการณ์การปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 จากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่งในพื้นที่การศึกษาไม่สอดคล้องกับค่าความเข้มข้น PM2.5 ที่ตรวจวัดได้จากข้อมูลดาวเทียม เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในการประมาณค่าความเข้มเข้ม PM2.5 จากเพื่อนบ้าน ด้วยวิธีการสร้างแบบจำลองแบบ GWR