
การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน
การใช้พืชในการบำบัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถดูดซับมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดฝุ่น PM2.5 ของพืชยืนต้นชนิดต่าง ๆ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและแบบ area-based experiment พร้อมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ผลการวิจัยพบว่า พืชที่มีความสามารถในการลด PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ กัลปพฤกษ์ นีออน โมก พะยูง จามจุรี หมากเหลือง ทรงบาดาล แก้ว และอินทนิล โดยองค์ประกอบทางกายภาพของพืชที่ส่งผลต่อการจับฝุ่นที่ใบ ได้แก่ ลักษณะใบ รูปร่างใบ พื้นผิวใบ ขนใบ ปากใบ และชั้นแวกซ์ในส่วน cuticle wax นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในพืชมีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดฝุ่นมากที่สุด รองลงมาคือปริมาณไขมันชนิดละลายน้ำ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พืชมีการตอบสนองต่อฝุ่นโดยพยายามสะสมน้ำไว้ภายในต้น มีการปิดปากใบ และลดอัตราการสังเคราะห์แสง กลไกการตอบสนองเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลในระดับกายภาพ แต่ในระดับโปรตีนยังพบว่า โปรตีนที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ cell process, metabolic process และ response to stress มีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นพืชที่ไม่ได้รับการสัมผัสฝุ่น ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระดับโปรตีนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลไกการเปิด-ปิดปากใบ การสังเคราะห์แสง การสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การป้องกันสารอนุมูลอิสระ ฯลฯ โดยโปรตีนเหล่านี้จะพบการเปลี่ยนแปลงในคลอโรพลาสต์ของพืชมากที่สุด ในส่วนของการศึกษารูปแบบการจัดวางพืชให้เหมาะสมในเชิงพื้นที่และให้มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 พบว่า ควรจัดวางต้นไม้อย่างน้อย 2 ชั้น โดยแต่ละชั้นควรมีระยะห่างกันเท่ากับความสูงของชั้นที่ต่ำกว่าหารด้วย 2
คำสำคัญ (Keywords): ฝุ่นขนาดเล็ก, ไม้ยืนต้น, กลไกบำบัดฝุ่น, การถ่ายทอดองค์ความรู้