
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate, HTAPC) ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดการเสวนา “ไขข้อสงสัย มีสารอะไรบ้างอยู่ในฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย” ภายใต้งาน ”วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ณ เวทีกิจกรรมกลาง Event Hall 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ และผู้เข้าร่วมการเสวนาทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดทาง Facebook Live
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการ วช. ให้เกียรติเข้าร่วมและกล่าวเปิดงาน ท่านกล่าวว่า วช. ในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ และให้ความสำคัญกับ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดและองค์ประกอบของสารปนเปื้อนที่มากับฝุ่น PM2.5 ดังนั้น วช. จึงให้ความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องสู่สาธารณะผ่านผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชน
การเสวนาในครั้งนี้มี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.-GISTDA) เข้าร่วมการเสวนาเพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้ วิธีหาองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ทำกันอย่างไร สารที่พบในฝุ่น PM2.5 บอกอะไรกับเราได้ มีสารอะไรบ้างในฝุ่น PM2.5 ที่พบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีสารอะไรบ้างในฝุ่น PM2.5 ที่พบในจังหวัดเชียงใหม่ การเสวนาดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย รวมถึงแหล่งที่มาและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศในอนาคต ทั้งนี้ วช. และ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและแนวทางในการลดผลกระทบจากมลพิษอากาศในระยะยาว